1. ชองระอา
Barleriaiupulina Lindl.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น เสลดพังพอน เสลดพังพอนตัวผู้

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร มีหนามแหลมยาวข้อละ 2 คู่ กิ่งก้านสีน้ำตาลแดง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกยาวหรือ รูปขอบขนาน กว้าง 1.8-2.5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ผิวใบเรียบมัน สีเขียวเข้ม เส้นกลางใบสีแดง
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 8 ซม. ใบประดับค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ กลีบดอกสีเหลืองส้ม โคนเชื่อมติดเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมีกลีบขนาดใหญ่ 4 กลีบ กลีบล่างเล็กกว่า มี 1 กลีบ
ผล เป็นฝัก รูปไข่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ตำละเอียดผสมเหล้า พอกหรือทา ถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยและเริม
ราก - ใช้ฝนกับเหล้าทาถอนพิษตะขาบ


 

2. ทองหลาง
Indian Coral Tree

Erythrina variegata Linn.
FABACEAE
ชื่ออื่น ทองบ้าน

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10 - 15 เมตร
ใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปแกมไข่สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีส้มหรือแดง รูปดอกถั่ว
ผล เป็นฝักยาวคอดเป็นข้อๆ สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดสีแสด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ใบแก่สดรมควัน ชุบน้ำสุกปิดแผล และเนื้อร้ายที่บวม ดูดหนองให้ไหลออกมา และทำให้แผลยุบ ใบคั่วใช้เป็นยาเย็น ดับพิษ บดทาแก้ข้อบวม


 

3. เทียนบ้าน
Garden Balsam

Impatiens balsamina Linn.
BALSAMINACEAE
ชื่ออื่น เทียนดอก เทียนสวน

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 20 - 70 เมตร ลำต้นอวบน้ำ และค่อนข้างโปร่งแสง
ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนรอบต้นรูปวงรี กว้าง 2 - 4 ซม. ยาว 6 - 10 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย
ดอกเดี่ยว หรือช่อ 2 - 3 ดอก ออกที่ซอกใบ มีสีต่างๆ เช่น ขาว ชมพู แดง ม่วง
ผลแห้ง รูปรี เมื่อแก่จัดจะแตกเป็นริ้วตามยาว ม้วนขมวด ดีดเมล็ดกลมสีน้ำตาลออกมา
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ใบสดตำละเอียดพอกแก้เล็บขบ รักษาฝีหรือแผลพุพอง น้ำคั้นใบสด ใช้ย้อมผมแทนใบเทียนกิ่ง แต่เวลาใช้ต้องระวัง เพราะสีจะติดเสื้อผ้า และร่างกาย มีรายงานว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมีสาร lowsone ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อราที่ทำให้เป็นโรคกลาก และฮ่องกงฟุตได้


 

4. ผักคราดหัวแหวน
Para Cress

Spilanthes acmella Murr.
ASTERACEAE
ชื่ออื่น ผักคราด ผักตุ้มหู ผักเผ็ด

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 30 - 40 ซม. ลำต้นค่อนข้างกลม อวบน้ำ อาจมีสีม่วงแดง ต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปสามเหลี่ยม กว้าง 3 - 4 ซม. ยาว 3 - 6 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ รูปกรวยคว่ำ สีเหลืองอ่อน
ผลแห้ง รูปไข่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ต้น - ใช้ต้นสดตำผสมเหล้า หรือน้ำส้มสายชู อมแก้ฝีในลำคอ หรือต่อมน้ำลายอักเสบ ทำให้ลิ้นชา แก้ไข้ ยาพื้นบ้านใช้อุดแก้ปวดฟัน พบว่าใบ ช่อดอก และก้านช่อดอกมีสาร spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ การทดลองฤทธิ์ชาเฉพาะที่ในสัตว์ และคนปกติ โดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา lidocaine พบว่าได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า อยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อใช้เป็นยาชาอุดแก้ปวดฟัน


 

5. ไพล
Zingiber purpureum Rosc.
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ปูลอย ปูเลย ว่านไฟ

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 0.7 - 1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อ หรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบ หรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5 - 5.5 ซม. ยาว 18 - 35 ซม.
ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง
ผลแห้ง รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้า - ใช้เหง้าสดเป็นยาภายนอก โดยฝนทาแก้เคล็ดยอก ฟกบวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา สมานแผล จากการวิจัยพบว่า ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติลดอาการอักเสบ และบวม จึงมีการผลิตยาขึ้ผึ้งผสมน้ำมันไพล เพื่อใช้เป็นยาทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์ สามารถทากันยุงได้ ใช้เหง้ากินเป็นยาขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ แก้บิด สมานลำไส้ นอกจากนี้พบว่าในเหง้ามีสาร 4-(4-hydroxy-1-butenyl)veratrole ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม ได้ทดลองใข้ผงไพลกับผู้ป่วยเด็กที่เป็นหิด สรุปว่าให้ผลดี ทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง


 

6. มะกอก
Hog Plum

Spondias pinnata (Linn. f.) Kurz
ANACARDIACEAE
ชื่ออื่น กอกกุก กูก กอกเขา

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 15 - 25 เมตร กิ่งก้านมีช่องอากาศ กระจัดกระจาย
ใบประกอบรูปขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 9 - 13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 3 - 4 ซม. ยาว 7 - 12 ซม. ใบย่อยบริเวณโคนต้น ฐานใบเบี้ยว
ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง หรือซอกใบของกิ่งที่ใบร่วง ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก สีขาวครีม
ผลเป็นผลสด รูปไข่ มีเนื้อฉ่ำน้ำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้น้ำคั้นจากใบหยอดแก้ปวดหู
ผล เปลือก ใบ - กินเป็นยาบำรุงธาติ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ เลือดออกตามไรฟัน
เนื้อ - เนื้อในผลแก้ธาติพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้บิด
ใบ - แก้ปวดท้อง


 

7. มะขวิด
Elephant's Apple, Wood Apple, Kavath, Gelingga

Feronia limonia Swing.
RUTACEAE
ชื่ออื่น มะฟิด

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 6 - 10 เมตร
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 5 หรือ 7 ใบ บางครั้งมี 3, 6 หรือ 9 ใบ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ กว้าง 0.5 - 1 ซม. ยาว 1.5 - 4.5 ซม. เนื้อใบมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ที่บริเวณขอบใบ
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง หรือซอกใบ ประกอบด้วยดอกตัวผู้ และดอกสมบูรณืเพศอยู่ในต้นเดียวกัน กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียวเจือด้วยสีแดง
ผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีเทาแกมน้ำตาล
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ตำพอกหรือทาแก้ปวดบวม รักษาผี และโรคผิวหนังบางชนิด แก้ท้องเสีย แก้ตกเลือด และห้ามระดู พบว่าสารสกัดใบยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรค ในหลอดทดลอง


 

8. รางจืด
Thunbergia laurifolia Linn.
THUNBERGIACEAE
ชื่ออื่น กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว คาย รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง ย่ำแย้ แอดแอ

รูปลักษณะ
ไม้เถาเนื้อแข็ง
ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-14 ซม. ขอบใบเว้าเล็กน้อย
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง
ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้คั้นน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาการแพ้อาหาร เป็นต้น การทดลองเพื่อใช้แก้พิษ ที่เกิดจากยาฆ่าแมลงโพลิดอลในสัตว์ ได้ผลดีพอควร สรุปได้ว่า อาจใช้น้ำคั้นใบสด ให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลง ดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกัน ก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง


 

9. ว่านหางช้าง
Black Berry Lily, Leopard Flower

Belamcanda chinensis (Linn.) DC.
IRIDACEAE
ชื่ออื่น ว่านมีดยับ

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 0.6 - 1.2 เมตร มีเหง้าเลื้อยตามแนวขนานกับพื้นดิน
ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงซ้อนสลับ กว้าง 2 - 3 ซม. ยาว 30 - 45 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา
ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีส้มมีจุดประสีแดงกระจาย
ผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกอ้า และกระดกกลับไปด้านหลัง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใช้เป็นยาระบาย แก้ระดูพิการ
เหง้า - ตำราจีนใช้เหง้าเป็นยาแก้ไอ ขัเสมหะ ยาถ่าย แก้ไข้ บำรุงธาติ พบว่ามีสารบางชนิดที่เป็นพิษ จึงควรระวังในการใช้กิน การทดลองกับผู้ป่วย พบว่าน้ำต้มเหง้า ใช้ชะล้างแก้อาการผื่นคันได้ผลดี


 

10. เสม็ด
Cajuput Tree, Paper Bark Tree, Swamp Tea, Milk Wood

Melaleuca cajuputi Powell
(M. leucadendra Linn. var. minor Duthie)
MYRTACEAE
ชื่ออื่น เม็ด เหม็ด เสม็ดขาว

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น เปลือกต้นมักล่อนเป็นแผ่นคล้ายเยื่อกระดาษ สูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งก้านห้อยลง
ใบเดียว เรียงสลับ รูปวงรี แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 0.5 - 1 ซม. ยาว 4 - 8 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ห้อยหัวลง ดอกย่อยเรียงเป็นวง กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก
ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสดทาแก้เคล็ด เมื่อย ปวด บวม