1. ขมิ้นชัน
Turmeric
Curcuma longa (Linn.)
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่ มีแขนงรูปทรงกระบอก แตกออกด้านข้าง 2 ด้านตรงข้ามกัน เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงเป็นวงซ้อนทับกัน รูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอกช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผลรูปกลม มี 3 พู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้า - ใช้รักษาโรคผิวหนังผื่นคัน โดยทำเป็นผงผสมน้ำ หรือเหง้าสด ฝนน้ำทา มีรายงานว่าพบน้ำมันหอมระเหยและสาร curcumin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี นอกจากนี้ ยังใช้เหง้ารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และแผลในกระเพาะอาหาร โดยใช้ผงขมิ้นชัน ขนาด 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน


 

2. ข่อย
Siamese Rough Bush, Tooth Brush Tree
Streblus aspera Lour.
MORACEAE
ชื่ออื่น กักไม้ฝอย ส้มพอ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น มีน้ำยางขาว สูง 5-15 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ผิวใบสากคาย ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อกลม ช่อดอกตัวเมียออกเป็นกระจุกมี 2-4 ดอกย่อย กลีบดอกสีเหลือง ผลสด รูปไข่ เมื่อสุกสีเหลือง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - แก้โรคผิวหนัง รักษาแผล หุงเป็นน้ำมันทารักษาริดสีดวงทวาร รักษารำมะนาด แก้ท้องร่วง
เมล็ด ผสมกับหัวแห้วหมู เปลือกทิ้งถ่อน เปลือกตะโกนา ผลพริกไทยแห้งและเถาบอระเพ็ด ดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่ม เป็นยาอายุวัฒนะ


 

3. ขันทองพยาบาท
Suregada multiflorum Baill.
EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น กระดูก ยายปลูก ขนุนดง ขอบนางนั่ง ขัณฑสกร ช้องรำพัน สลอด น้ำขันทอง มะดูก หมายดูก ข้าวตาก ขุนทอง คุณทอง ดูกไทร ดูกไม เหมือดโรด ดูกหิน ดูกไหล ทุเรียนป่าไฟ ป่าช้าหมอง ยางปลอก มะดูกดง ฮ่อสะพานควาย มะดูกเลี่ยม ดูกใส

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 4-15 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 9-14 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น กลีบดอกสีนวล ผลแห้ง แตกได้ รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เนื้อไม้ ใช้แก้ลมพิษ แก้กามโรค
เปลือกต้น - เป็นยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ทำให้ฟันทน ยาถ่ายและฆ่าพยาธิ


 

4. ข่า
Alpinia nigra (Gaertn.) B. L. Burtt
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ข่าหยวก ข่าหลวง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอกช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผลแห้ง แตกได้ รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้าสด ตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สารที่ออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหย และ 1'-acetoxychavicol acetate
เหง้าอ่อน - ต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม ข่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และไม่เป็นพิษ


 

5. ตะเคียนทอง
Hopea odorata Roxb.
DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น แคน จะเคียน ตะเคียน ตะเคียนใหญ่

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 20-40 เมตร ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมใบหอก กว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-15 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองแกมน้ำตาล ผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงกลมหรือรูปไข่ มีปีกยาว 2 ปีก และปีกสั้น 3 ปีก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
แก่น ใช้แก่นซึ่งมีรสขมหวาน รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหิตและกำเดา แก้ไข้ที่มีอาการแสดงที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น
ยางแห้ง - บดเป็นผง รักษาบาดแผล


 

6. ทองพันชั่ง
Rhinacanthus nasutus (Linn.) Kurz.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ทองคันชั่ง หญ้ามันไก่

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปวงรี กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากล่างมีจุดสีม่วงแดง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด, ราก - ใช้ใบสดและรากโขลกละเอียด แช่เหล้าโรง 1 สัปดาห์ เอาน้ำเหล้าทาแก้กลากเกลื้อน สารสำคัญ คือ rhinacanthin และ oxymethylanthraquinone


 

7. น้อยหน่า
Sugar Apple
Annona squamosa Linn.
ANNONACEAE
ชื่ออื่น น้อยแน่ มะนอแน่ หมักเขียบ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 3-5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-13 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ห้อยลง กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ หนาอวบน้ำ มีเกสรตัวผู้และรังไข่ จำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่ม ค่อนข้างกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสดและเมล็ด - ใช้รักษาหิด กลากและเกลื้อน ฆ่าเหา โดยใช้เมล็ดประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ 1 กำมือ (15 กรัม) ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 ขยี้ให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้หวีสางเหาออก สระผมให้สะอาด (ระวัง! อย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบได้)


 

8. บัวบก
Asiatic Pennywort, Tiger Herbal
Centella asiatica (Linn.) Urban
APIACEAE
ชื่ออื่น ผักแว่น ผักหนอก

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะ แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อ ชูขึ้น 3-5 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไต เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทและเกิดแผลเป็นชนิดนูน (keloid) น้อยลง สารที่ออกฤทธิ์คือ กรด madecassic, กรด asiatic และ asiaticoside ซึ่งช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ มีรายงานการค้นพบฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของโรคกลาก ปัจจุบัน มีการพัฒนายาเตรียมชนิดครีม ให้ทารักษาแผลอักเสบจากการผ่าตัด น้ำต้มใบสดดื่มลดไข้ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย


 

9. ปาล์มน้ำมัน
Oil Palm, African Oil Palm
Elaeis guineensis Jacq.
ARECACEAE
ชื่ออื่น มะพร้าวลิง มะพร้าวหัวลิง หมากมัน

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม สูง 6-15 เมตร ไม่แตกกิ่งก้าน ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ใบย่อยรูปดาบ กว้าง 3.5-5 ซม. ยาว 45-120 ซม. ดอกช่อ เชิงลด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ออกระหว่างก้านใบ มีใบประดับขนาดใหญ่ 2 ใบ กลีบดอกสีขาวนวล ผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีส้มแดง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - ใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ด เป็นน้ำมันปรุงอาหาร และเป็นตัวทำลาย สำหรับตำรับยาทาแก้โรคผิวหนัง


 

10. พุดตาน
Hibiscus mutabillis (Roxb.) Linn.
MALVACEAE
ชื่ออื่น ดอกสามสี สามผิว

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม มีขนทุกส่วนของต้น สูง 2-4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก กว้างและยาวประมาณ 10 ซม. ผิวใบมีขนรูปดาวสีเทา ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกเมื่อแรกบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดง ผลแห้ง แตกได้ รูปทรงกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก ใช้ต้มน้ำดื่มหรือฝนทา รักษาอาการโรคผิวหนัง มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย แก้ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกาย


 

11. มะคำดีควาย
Soapberry
Sapindus emarginatus Wall.
SAPINDACEAE
ชื่ออื่น ประคำดีควาย

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10-30 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 5-7 ซม. ยาว 10-14 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลสด รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผล - ใช้ผลทุบให้แตก แช่น้ำล้างหน้า รักษาผิว แก้รังแค แก้ชันนะตุ (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) มีรายงานว่า เนื้อผลมีสารซาโปนิน ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี


 

12. รามใหญ่
Ardisia elliptica Thunb.
MYRSINACEAE

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 1.5-3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-15 ซม. ใบหนา ผิวเรียบ ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวแกมชมพูจาง ๆ ผล เป็นผลสด เมื่อสุกสีดำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ลำต้น ใช้แก้โรคเรื้อน พบเม็ดสี (pigment) สีส้มทองชื่อ rapanone ในเปลือกต้น ซึ่งเมื่อใช้ทดลองกับหนูที่ติดเชื้อโรคเรื้อน โดยให้ยาติดต่อกัน 6 เดือน - 1 ปี สามารลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อดังกล่าวได้
ราก - ใช้แก้กามโรคและหนองใส
ผล - แก้ไข้ ท้องเสีย


 

13. ลำโพงขาว
Thorn Apple
Datura metel Linn.
ชื่ออื่น มะเขือบ้า
ลำโพงกาสลัก
D. metel Linn. var. Fastuosa Safford
SOLANACEAE
ชื่ออื่น กาสลัก มะเขือบ้าดอกดำ

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 8-15 ซม. ยาว 10-20 ซม. ขอบใบหยักซี่ฟันหยาบ ๆ ฐานใบมักไม่เสมอกัน ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบเลี้ยงสีเขียวติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวดอก กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายบานออกเป็นรูปแตร ผลแห้ง แตกได้ มีขนหนาคล้ายหนาม ลำโพงขาวมีกิ่งก้านลำต้นสีเขียว กลีบดอกสีขาวชั้นเดียว ผลกลม ลำโพงกาสลักมีกิ่งก้านลำต้นสีม่วปนเขียวถึงสีม่วงเข้ม กลีบดอกสีม่วง 2-3 ชั้นซ้อนกัน ผลรูปรี
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - ใช้หุงทำน้ำมันใส่แผล แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน
ใบ - ใช้ใบสดตำพอกฝี แก้ปวดบวมอักเสบ ใบและยอด มีแอลคาลอยด์ hyoscyamine และ hyoscine ใช้แก้อาการปวดท้องเกร็ง และขยายหลอดลม ใช้แก้หอบหืดได้
ดอก - ใช้สูบแก้อาการหอบหืด


 

14. ว่านมหากาฬ
Gynura pseudochina DC. var. hispida Thv.
ASTERACEAE
ชื่ออื่น ดาวเรือง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ เลื้อยทอดยาวไปตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ปลายยอดมีขนนุ่มสั้นปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ เวียนรอบต้น รูปใบหอกกลับ กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 6-30 ซม. ขอบใบหยักห่าง ๆ หลังใบสีม่วงเข้ม มีขนเส้นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีเหลืองทอง ผลแห้ง ไม่แตก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
รากและใบสด ใช้ตำ พอกแก้ปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษปวดแสบ ปวดร้อน ใช้ใบสดทดลองกับผู้ป่วยโรคเริมและงูสวัด สรุปว่า สารสกัดจากใบทำให้อัตราการกลับมาเป็นใหญ่ของโรคลดลง


 

15. หนอนตายหยาก
Stemona tuberosa Lour.
STEMONACEAE
ชื่ออื่น กะเพียด

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 0.4-0.6 เมตร รากเป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุกคล้ายกระชาย กิ่งที่กำลังจะออกดอก มักจะเลื้อยพัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. แผ่นใบเป็นคลื่น ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกด้านนอกสีเขียว ด้านในสีแดง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้ทุบหมักน้ำ ใช้ส่วนน้ำเป็นยาฆ่าหิดเหา ฆ่าหนอน