สมุนไพรพิกัดไทย

ทฤษฎีเภสัชกรรมแผนไทย จัดสมุนไพรหลายชนิด ที่มักใช้ร่วมกัน เพื่อให้ได้สรรพคุณ ที่ต้องการเป็นหมวดหมู่ แล้วรวมเรียกเป็นชื่อเดียว ให้ง่ายแก่การจดจำและจ่ายยา เรียกว่า "พิกัดยา"
ซึ่งอาจประกอบด้วย สมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป

พิกัดตรีผลา

ประกอบด้วย ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก ผลมะขามป้อม

พิกัดตรีกฏุก

ประกอบด้วย ผลพริกไทย เหง้าขิงแห้ง ผลดีปลี

พิกัดตรีกาฬพิษ

ประกอบด้วย รากกระชาย เหง้าข่า รากกะเพราแดง

พิกัดจตุกาลธาตุ

ประกอบด้วย เหง้าว่านน้ำ เปลือกแคแตร รากนมสวรรค์ รากเจตมูลเพลิงแดง

พิกัดเบญจกูล

ประกอบด้วย รากเจตมูลแดง เหง้าขิงแห้ง ผลดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน

พิกัดเบญโลกวิเชียร

ประกอบด้วย รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากท้าวยายม่อม รากคนทา รากย่านาง

1. สมอไทย
Myrobalan Wood
Terminalia chebula Retz.
COMBRETACEAE
ชื่ออื่น สมออัพยา

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 20-35 เมตร เปลือกต้นขรุขระ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปวงรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 8-15 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบสีเหลือง ผลเป็นผลสด รูปวงรี มีสัน 5 สัน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผลแก่ดิบ - ใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ แก้บิด แก้ไข้


 

2. สมอพิเภก
Beleric Myrobalan
Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.
COMBRETACEAE
ชื่ออื่น ลัน สมอแหน แหน แหนขาว แหนต้น

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 25-50 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับแกมวงรี กว้าง 5-10 ซม. ยาว 10-20 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และดอกตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบสีเหลือง ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม มีสัน 5 สัน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผลดิบ - ใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ
ผลดิบ - มีฤทธิ์ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย


 

3. มะขามป้อม
Emblic Myrobalan, Malacca Tree
Phyllanthus emblica Linn.
EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น กำทวด

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 8-20 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 0.25-0.5 ซม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยสีนวล ผลเป็นผลสด รูปกลม ผิวเรียบ มีเส้นพาดตามยาว 6 เส้น เมล้ด กลม สีเขียวเข้ม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เนื้อผลแห้งหรือสด - รับประทานขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ผลแห้งต้มกินแก้ไข้ น้ำคั้นผลสดแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ มีวิตามินซีใช้แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน


 

4. พริกไทย
Pepper
Piper nigrum Linn.
PIPERACEAE
ชื่ออื่น พริกน้อย

รูปลักษณะ
ไม้เถาเนื้อแข็ง รากฝอยออกบริเวณข้อ เพื่อใช้ยึดเกาะข้อโป่งนูน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยสมบูรณืเพศ สีขาวแกมเขียว ผลสด กลม จัดเรียงตัวแน่นอยู่บนแก้ม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีแดง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
พริกไทยเป็นเครื่องเทศ ใช้แต่งกลิ่นรสและช่วยถนอมอาหาร
ผล - ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการท้องอืดเฟ้อ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะและกระตุ้นประสาท พบว่าผลมีน้ำมันหอมระเหยและแอลคาลอยด์ piperine
พริกไทยที่มีขายในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ

- พริกไทยดำ เป็นผลแก่แต่ยังไม่สุก นำมาตากแห้ง
-
พริกไทยล่อน ได้จากผลสุกที่นำมาแช่น้ำ เพื่อลอกเปลือกชั้นนอกออก แล้วจึงตากให้แห้ง


 

5. ขิง
Ginger
Zingiber officinale Rosc.
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 0.3-1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาจากดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ดอกช่อ แทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน ผลแห้ง มี 3 พู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้าแก่ทั้งสดและแห้ง - ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับลม ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะและขับเหงื่อ โดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำ
ผงขิงแห้ง - ชงน้ำดื่ม จากการทดลองกับอาสาสมัคร 36 คน พบว่าผงขิง ป้องกันการเมารถ เมาเรือ ได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (dimenhydrinate) ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย menthol, borneol, fenchone, 6-shogaol และ 6-gingerol menthol มีฤทธิ์ขับลม borneol, fenchone และ 6-gingerol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน นอกจากนี้พบว่า สารที่มีรสเผ็ด ได้แก่ 6-shogaol และ 6-gingrol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง


 

6. ดีปลี
Long Pepper
Piper retrofractum Vahl
PIPERACEAE

รูปลักษณะ
ไม้เถา รากฝอยออกบริเวณข้อ เพื่อใช้ยึดเกาะ ใบเดี่ยว รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-10 ซม. สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น แยกเพศ ผลสด มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสเผ็ดร้อน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกตากแห้ง - ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับรกหลังคลอด โดยใช้ผล 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม นอกจากนี้ใช้เป็นยาแก้ไอ โดยเอาผลแห้งครึ่งผล ฝนกับมะนาวแทรกเกลือ ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ มีฤทธิ์ขับลมและแก้ไอ เกิดจากน้ำมันหอมระเหยและแอลคาลอยด์ piperine ควรระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์


 

7. กระชาย
Boesenbergia rotunda (Linn.) Mansf.
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น กะแอน ระแอน ว่านพระอาทิตย์

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก ไม่มีลำต้นบนดิน มีเหง้าใต้ดิน ซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว้างกว่าส่วนหัวและท้าย ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4.5-10 ซม. ยาว 15-30 ซม. ตรงกลางด้านในของก้านใบมีรองลึก ดอกช่อ ออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ใบประดับรูปใบหอก สีม่วงแดง ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้า - ใช้แก้โรคในปาก ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ขับระดูขาว


 

8. ข่า
Alpinia nigra (Gaertn.) B. L. Burtt
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ข่าหยวก ข่าหลวง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอกช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผลแห้ง แตกได้ รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้าสด ตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สารที่ออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหย และ 1'-acetoxychavicol acetate
เหง้าอ่อน - ต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม ข่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และไม่เป็นพิษ


 

9. กระเพราแดง
Holy Basil
Ocimum tenuiflorum Linn.
(O. sanctum Linn.)
LAMIACEAE
ชื่ออื่น กอมก้อ กอมก้อดง กระเพราขาว กระเพราขน

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.3-0.9 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นเฉพาะ ลำต้นสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนอาจมีสีม่วงแดงแกมเขียว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปวงรี กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-6 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อยห่าง ๆ สีเขียวแกมม่วงแดง ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงและกลีบดอกต่างแยกเป็น 2 ปาก กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง ใบประดับสีเขียวแกมม่วง ผลแห้ง มี 4 ผลย่อย
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบหรือทั้งต้น - เป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ พบว่าฤทธิ์ขับลม เกิดจากน้ำมันหอมระเหย และสาร eugenol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด


 

10. เจตมูลเพลิงแดง
Rose-colored Leadwort
Plumbago indica Linn.
PLUMBAGINACEAE
ชื่ออื่น ปิดปิวแดง ไฟใต้ดิน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 0.8-1.5 เมตร ลำต้นกลมเรียบ มีสีแดงบริเวณข้อ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมวงรี กว้าง 3-5 ซม. ยาว 6-10 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีต่อม ซึ่งเมื่อจับจะรู้สึกเหนียว กลีบดอกสีแดง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
รากแห้ง - ใช้ขับประจำเดือน กระจายลม บำรุงธาตุ รักษาโรคริดสีดวงทวาร พบว่ามีสาร plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่ควรระวังในการใช้ เนื่องจาก plumbagin ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้


 

11. ว่านน้ำ
Calamus, Myrtle Grass
Acorus calamus Linn.
ARACEAE
ชื่ออื่น ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวน้ำ ฮางคาวบ้าน ฮางคาวผา

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 เมตร พบขึ้นในที่มีน้ำท่วมขังหรือริมน้ำ ลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นเหง้าเลื้อยในแนวขนานกับพื้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 1-2 ซม. ยาว 80-110 ซม. ผิวใบเรียบเป็นมัน ดอกช่อ แทงออกจากเหง้า สีเขียวรูปทรงกระบอก ยาว 3-5 ซม. ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงตัวอัดแน่น ก้านช่อและใบประดับ ลักษณะคล้ายใบ ผลเป็นผลสด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้า - ใช้แก้ปวดท้อง ขับลม ขับเสมหะ ในกรณีผู้ป่วยกินสารพิษ และต้องการขับสารพิษออกจากทางเดินอาหาร ให้กินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม จะทำให้อาเจียน พบว่าน้ำมันหอมระเหยในเหง้า และราก ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ และสาร 2-asarone ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่มีรายงานว่า เป็นพิษต่อตับและทำให้เกิดมะเร็ง จึงควรศึกษาความเป็นพิษเพิ่มเติม


 

12. นมสวรรค์
Clerodendrum paniculatum Linn.
VERBENACEAE
ชื่ออื่น ฉัตรฟ้า สาวสวรรค์ พวงพีเหลือง หังลิง พนมสวรรค์

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 7-38 ซม. ยาว 4-40 ซม. ขอบใบหยักเว้า ลึก 3-7 แฉก ดอกช่อขนาดใหญ่ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูประฆังสีส้มแดง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว สีส้มแดง ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม สีน้ำเงินแกมเขียวหรือดำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ดอก - แก้พิษสัตว์กัดต่อยและพิษที่เกิดจากการติดเชื้อ แก้ตกเลือด
ราก - ขับลม แก้วัณโรค แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการไข้ที่ถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
ต้น - แก้อักเสบเนื่องจากตะขาบ และแมลงป่องต่อย แก้พิษฝีผักบัว


 

13. คนทา
Harrisonia perforata (Blanco) Merr.
SIMAROUBACEAE
ชื่ออื่น กะลันทา สีฟ้น สีฟันคนตาย สีฟันคนทา จี้ จี้หนาม สีเตาะ หนามจี้

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มแกมเถา กิ่งก้านมีหนาม ยอดอ่อนมีสีแดง ใบประกอบ แบบขนนกเรียงสลับ มีครีบที่ก้านและแกนใบ ใบย่อยรูปวงรีหรือรูปไข่ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. ขอบใบหยัก ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกด้านนอกสีแดงแกมม่วง ด้านในสีนวล ผล เป็นผลสด ค่อนข้างกลม ใบ ผล และราก มีรสขม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด


 

14. ชิงชี่
Capparis micracantha DC.
CAPPARACEAE
ชื่ออื่น กระดาดขาว กระโรกใหญ่ จิงโจ พญาจอม ปลวก แสมซอ กระดาดป่า ค้อนฆ้อง ชายชู้ หมากมก ซิซอ พวงมาระดอ เม็งซอ ราม แส้ม้าทลาย หนวดแมวแดง

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1-6 เมตร มีหนามที่กิ่งก้าน ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน รูปวงรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-10 ซม. ยาว 8-24 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบหรือกิ่งก้านใกล้ซอกใบ กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีเหลือง เมื่อแรกบาน และเปลี่ยนเป็นแต้มม่วงแกมน้ำตาล ผลเป็นผลสด รูปกระสวย กลมหรือทรงกระบอก เมื่อสุกสีแดง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาขับลม รักษามะเร็ง (แผลเรื้อรัง เน่า ลุกลาม รักษายาก)
ต้น - ตำพอก แก้ฟกบวม
ใบ - เข้ายาอาบและกิน รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มักมีไข้ร่วมด้วย


 

15. เท้ายายม่อม
Clerodendrum petasites S. Moore
VERBENACEAE
ชื่ออื่น กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน ปิ้งขม ปิ้งหลวง พญารากเดียว พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ พมพี พินพี่ ไม้เท้าฤาษี หญ้าลิ้นจ้อน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2.5 เมตร ลำต้นตรง บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือรอบข้อ ๆ ละ 3-5 ใบ รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 12-18 ซม. ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาขับเสมหะลงเบื้องต่ำ ขับพิษไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาเจียน หืดไอ และตำพอกแก้พิษฝี


 

16. มะเดื่ออุทุมพร
Ficus racemosa Linn.
MORACEAE
ชื่ออื่น เดื่อเกลี้ยง เดื่อน้ำ มะเดื่อ มะเดื่อชุมพร

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนและผล มีขนละเอียดสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 3.5-8.5 ซม. ยาว 6-19 ซม. ดอกช่อ เกิดภายในฐานรองดอก ที่มีรูปร่างคล้ายผล ออกที่ลำต้นและกิ่ง แยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ผล เป็นผลสด รูปไข่แกมสามเหลี่ยม เมื่อสุกสีแดงแกมชมพู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้แก้ไข้พิษ แก้ร้อนใน
เปลือกต้น - มีรสฝาด แก้อาการท้องเสียที่ไม่ใช่บิด หรืออหิวาตกโรค แก้อาเจียน ห้ามเลือด ชำระแผล


 

17. ย่านาง
Tiliacora triandaDiels.
MENISPERMACEAE

รูปลักษณะ
ไม้เถา ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมใบหอก กว้าง 2-4 ซม. ยาว 5-12 ซม. ดอกช่อ ออกตามเถาและที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อย รูปวงรี
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ต้มกับน้ำดื่ม แก้ไข้ทุกชนิด