สมุนไพรแก้มะเร็ง

 

มะเร็ง ในความหมายของการแพทย์แผนไทย คือ อาการแผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม รักษายาก สมุนไพรไทยที่ใช้รักษาอาการดังกล่าวได้แก่ กระเบา ข่อย พญาสัตบรรณ สะบ้าลิง และเหงือกปลาหมอ เป็นต้น

ส่วนมะเร็งในความหมายของการแพทย์แบบตะวันตก คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และผิดปกติ และเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเป็นอันตรายถึงชีวิต สมุนไพรที่ใช้รักษา ที่พิสูจน์ทางการแพทย์ได้แล้ว ได้แก่ แพงพวยฝรั่ง ส่วนหญ้าปักกิ่งและราชดัด อยู่ระหว่างการวิจัย สมุนไพรไทยบางชนิด ได้แก่ ทองพันชั่ง มีผู้เชื่อว่ารักษามะเร็งบางชนิดได้ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์



1. กระเบา
Chaulmoogra

Hydnoccarpus anthelminthicus Pierre
FLACOURTIACEAE
ชื่ออื่น กระเบาน้ำ กระเบาเบ้าแข็ง กระเบาใหญ่ กาหลง เบา

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10 - 20 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 3 - 6 ซม. ยาว 10 - 12 ซม.
ดอกเดี่ยวหรือช่อสั้นๆ ออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ต้นตัวเมียเรียกว่า กระเบาต้นตัวผู้ เรียกว่าแก้วกาหลง กลีบดอกสีม่วงแดงจางๆ
ผลเป็นผลสด รูปกลม เปลือกหนา มีขนกำมะหยี่สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - ใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ด รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนังอื่นๆ มีรายงานวิจัยว่าน้ำมันที่บีบจากเมล็ดโดยไม่ใช้ความร้อน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเรื้อนและวัณโรค


 

2. ข่อย
Siamese Rough Bush, Tooth Brush Tree

Streblus aspera Lour.
MORACEAE
ชื่ออื่น กักไม้ฝอย ส้มพอ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น มีน้ำยางขาว สูง 5-15 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ผิวใบสากคาย
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อกลม ช่อดอกตัวเมียออกเป็นกระจุกมี 2-4 ดอกย่อย กลีบดอกสีเหลือง
ผลสด รูปไข่ เมื่อสุกสีเหลือง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - แก้โรคผิวหนัง รักษาแผล หุงเป็นน้ำมันทารักษาริดสีดวงทวาร รักษารำมะนาด แก้ท้องร่วง
เมล็ด - ผสมกับหัวแห้วหมู เปลือกทิ้งถ่อน เปลือกตะโกนา ผลพริกไทยแห้ง และเถาบอระเพ็ด ดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่ม เป็นยาอายุวัฒนะ


 

3. ทองพันชั่ง
Rhinacanthus nasutus (Linn.) Kurz.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ทองคันชั่ง หญ้ามันไก่

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปวงรี กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากล่างมีจุดสีม่วงแดง
ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด, ราก - ใช้ใบสดและรากโขลกละเอียด แช่เหล้าโรง 1 สัปดาห์ เอาน้ำเหล้าทาแก้กลากเกลื้อน สารสำคัญ คือ rhinacanthin และ oxymethylanthraquinone


 

4. พญาสัตบรรณ
Blackboard Tree, Devil Tree

Alstonia scholaris (Linn.) R. Br.
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น สัตบรรณ ตีนเป็ด ตีนเป็ดขาว ชบา ยางขาว หัสบรรณ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูงถึง 30 เมตร เปลือกต้นสีเทา มียางขาวมาก กิ่งแตกออกรอบข้อ
ใบเดี่ยว เรียงรอบข้อ ๆ ละ 6-9 ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 5-18 ซม. ปลายทู่กลม หรือเว้าเล็กน้อย
ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว แกมเหลือง
ผลเป็นฝักออกเป็นคู่ รูปกลมยาว
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - ใช้แก้ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้บิด สมานลำไส้ การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด รักษาแผลเรื้อรัง และต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด


 

5. แพงพวยฝรั่ง
Madagascar Periwinkle, West Indian Periwinkle

Catharanthus roseus (Linn.) Don
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น แพงพวยบก นมอิน ผักปอดบก

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน สูง 25 - 120 ซม. ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมไข่กลับ กว้าง 1.5 - 3 ซม. ยาว 3 - 7 ซม. ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ 1 - 3 ดอก กลีบดอกสีขาว สีชมพูหรือสีม่วง เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว แลายแยกเป็น 5 กลีบ
ผลแห้ง แตกได้ตะเข็บเดียว รูปทรงกระบอกยาว เมล็ดสีดำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ต้น - ใช้ทั้งต้นสกัดได้แอลคาลอยด์ Vincristine และ Vinblastine ซึ่งนำมาทำให้บริสุทธิ์ และใช้ในรูปยาฉีด รักษาคนไข้มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น


 

6. ราชดัด
Brucea javanica (Linn.) Merr.
SIMAROUBACEAE
ชื่ออื่น กระดัด ฉะดัด กาจับหลัก เท้ายายม่อมน้อย มะดีความ ดีคน พญาดาบหัก

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 2 - 4 เมตร
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง ใบย่อย รูปไข่แกมใบหอก กว้าง 3 - 6 ซม. ยาว 5 - 10 ซม. ขอบใบหยัก ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศ มีต้นที่พบเฉพาะช่อดอกตัวผู้ และต้นที่มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียในช่อเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดง มีขนปกคลุม
ผลเป็นผลสด เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลดำ คล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผล - ผลแห้งบำรุงน้ำดี แก้ไข้ และแก้บิด
เมล็ด - ยับยั้งการเจริญของมาลาเรียชนิด ฟัลซิพารัม และเชื้อบิดในหลอดทดลอง แต่พบความเป็นพิษสูง


 

7. สะบ้าลิง
Mucuna gigantea (Willd.) DC.
FABACEAE
ชื่ออื่น กระเจี๊ยบ หมามุ้ย

รูปลักษณะ
ไม้เถาเลื้อยพัน ยาว 5 - 15 เมตร
ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่แกมวงรี กว้าง 5 - 9 ซม. ยาว 9 - 16 ซม.
ดอกช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ห้อยลงกลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว รูปดอกถั่ว
ผลเป็นฝัก สีดำมีขนสีน้ำตาลอ่อน ปกคลุมหนาแน่น เมล็ดแข็งสีน้ำตาลอ่อนมีลาย
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือก, ต้น - มีสารกลุ่มซาโปนิน ใช้ล้างแผล สระผม, นำมาต้มน้ำผสมเกลือ อมแก้ปวดฟัน
เมล็ด - เผา บดเป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้คัน และโรคผิวหนัง


 

8. หญ้าปักกิ่ง
Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy
COMMELINACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 10 ซม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบที่โคนต้นกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 10 ซม. ใบส่วนบนสั้นกว่าใบที่โคนต้น
ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด รวมกันเป็นกระจุกแน่น ใบประดับย่อยค่อนข้างกลมซ้อนกัน สีเขียวอ่อน บางใส กลีบดอกสีฟ้าหรือม่วงอ่อน ร่วงง่าย
ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
หญ้าปักกิ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ แถบสิบสองปันนา ในตำรายาจีนปรากฏชื่อพิชสกุลเดียวกันนี้ ใช้รักษาอาการเจ็บคอ และมะเร็ง
ในประเทศไทยมีผู้นำหญ้าปักกิ่งมาใช้รักษาอาการของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งในลำคอ ตับ มดลูก ลำไส้ ผิวหนัง และเม็ดเลือด เป็นต้น
โดยนำหญ้าปักกิ่ง 6 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ปั่นหรือตำให้แหลก เติมน้ำ 4 ช้อนโต๊ะ คั้นเอาแต่น้ำแบ่งครึ่ง ดื่ม 2 ครัง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน
หญ้าปักกิ่งไม่มีพิษเฉียบพลัน และพิษกิ่งเรื้อรังในหนูขาว เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพ ในการรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย


 

9. เหงือกปลาหมอดอกขาว
Saltbush

Acanthus ebracteatus Vahl
ACANTHACEAE
10. เหงือกปลาหมอดอกม่วง
Sea Holly

Acanthus ilicifolius Linn.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น แก้มหมอเล จะเกร็ง อีเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 0.5 - 1.0 เมตร พบตามป่าชายเลน และบริเวณน้ำกร่อย ชนิดดอกขาวพบในภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนชนิดดอกม่วงพบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ลำต้นกลมเรียบ แข็ง สีเขียวแกมเทา มักมีหนามตามข้อๆ ละหนาม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปวงรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 3 - 7 ซม. ยาว 6 - 20 ซม. ขอบใบเว้าหยักซี่ฟันห่างๆ ปลายซี่เป็นหนาม ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบเหนียวแข็ง
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ชนิดดอกขาวมีกลีบดอกสีขาว จุดประสีแดงหรือม่วงแดง ชนิดดอกม่วงมีกลีบดอกสีม่วงอมฟ้า มีแถบสีเหลืองอ่อนกลางกลีบ
ผลเป็นฝัก รูปไข่หรือทรงกระบอก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ต้น, เมล็ด - รักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ ใช้น้ำคั้นใบทาศีรษะ ช่วยบำรุงรักษารากผม
ใบ - เป็นยาอายุวัฒนะ โดยปรุงรวมกับพริกไทย ในอัตราส่วน 2:1 บดทำเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 1 - 2 เม็ด