1. กรรณิการ์
Night Jasmine

Nyctanthes arbor-tristis Linn.
VERBENACEAE
ชื่ออื่น กณิการ์ กรณิการ์

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 2 - 5 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปใบหอก กว้าง 2.5 - 5 ซม. ยาว 5 - 10 ซม. ค่อนข้างหยาบสาก
ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว โคนกลีบดอกเป็นหลอดสีส้มแดง
ผลแห้ง แตกได้ แบน รูปไข่กลับ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ใบเป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี
ต้น - แก้ปวดศีรษะ
ดอก - แก้ไข้และลมวิงเวียน
ราก - บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องผูก
โคนกลีบ - ใช้โคนกลีบส่วนหลอดสีส้มแดงโขลกหยาบๆ เติมน้ำคั้น ส่วนน้ำกรองจะได้น้ำสีเหลืองใส ใช้เป็นสีผสมอาหาร และย้อมผ้า เติมน้ำมะนาว หรือสารส้มลงไปเล็กน้อยขณะย้อมผ้า จะทำให้สีคงทน


 

2. ขิง
Ginger

Zingiber officinale Rosc.
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 0.3-1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อ หรือลำต้นเทียมขึ้นมาจากดิน
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม.
ดอกช่อ แทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน
ผลแห้ง มี 3 พู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้าแก่ทั้งสดและแห้ง - ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับลม ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะและขับเหงื่อ โดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำ
ผงขิงแห้ง - ชงน้ำดื่ม จากการทดลองกับอาสาสมัคร 36 คน พบว่าผงขิง ป้องกันการเมารถ เมาเรือ ได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (dimenhydrinate) ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย menthol, borneol, fenchone, 6-shogaol และ 6-gingerol menthol มีฤทธิ์ขับลม borneol, fenchone และ 6-gingerol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน นอกจากนี้พบว่า สารที่มีรสเผ็ด ได้แก่ 6-shogaol และ 6-gingrol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง


 

3. ไข่เน่า
Vitex glabrata R. Br.
VERBENACEAE
ชื่ออื่น ขี้เห็น คมขวาน ฝรั่ง

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10 - 25 เมตร
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย 3 - 5 ใบ รูปไข่กลับแกมวงรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 4 - 6 ซม. ยาว 10 - 13 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีม่วงอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง มีขนละเอียด
ผลเป็นผลสด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ เมื่อสุกสีม่วงดำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น, ราก เป็นยาเจริญอาหาร แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง แก้บิด แก้ไข้ แก้ตานขโมย แก้ท้องเสีย


 

4. เจตมูลเพลิงแดง
Rose-colored Leadwort

Plumbago indica Linn.
PLUMBAGINACEAE
ชื่ออื่น ปิดปิวแดง ไฟใต้ดิน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 0.8-1.5 เมตร ลำต้นกลมเรียบ มีสีแดงบริเวณข้อ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมวงรี กว้าง 3-5 ซม. ยาว 6-10 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีต่อม ซึ่งเมื่อจับจะรู้สึกเหนียว กลีบดอกสีแดง
ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
รากแห้ง - ใช้ขับประจำเดือน กระจายลม บำรุงธาตุ รักษาโรคริดสีดวงทวาร พบว่ามีสาร plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัว ของมดลูก และลำไส้ ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่ควรระวังในการใช้ เนื่องจาก plumbagin ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้


 

5. ตะไคร้
Lemon Grass

Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
POACEAE
ชื่ออื่น จะไคร ไคร

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.75 - 1.2 เมตร แตกเป็นกอ เหง้าใต้ดินมีกลิ่นเฉพาะ ข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล หรือขาวปนม่วง ยาวและหนาหุ้มข้อ และปล้องไว้แน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 1 - 2 ซม. ยาว 70 - 100 ซม. แผ่นใบและขอบใบสากและคม ออกดอกยาก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
โคนกาบใบ, ลำต้น - ทั้งสดและแห้ง มีน้ำมันหอมระเหยช่วยให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด ใช้ลำต้นแก่สดประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ทุบพอแหลก ต้มน้ำพอเดือดหรือชงน้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร นอกจากนี้ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขัดเบา หรือปัสสาวะไม่คล่อง โดยผู้ป่วยต้องไม่มีอาการบวมที่แขนและขา พบว่าน้ำมันตะไคร้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย


 

6. โมกมัน
Wrightia tomentosa Roem. et Schult.
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น มักมัน มูกน้อย มูกมัน โมกน้อย

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10 - 12 เมตร มียางขาว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3 - 6 ซม. ยาว 7 - 12 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอก สีขาวแกมชมพู
ผลเป็นฝักคู่ติดกัน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือก - ใช้เปลือกเป็นยาบำรุงธาติ เจริญอาหาร
แก่น - แก้ดีพิการ ขับเลือด
ยางจากต้น - ใช้แก้บิดมูกเลือด


 

7. ส้มป่อย
Acacia concinna (Willd.) DC.
FABACEAE
ชื่ออื่น ส้มขอน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มรอเลื้อยมีหนามตามลำต้น กิ่ง ก้านและใบ
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว 7 - 20 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ เป็นช่อกลม กลีบดอกเป็นหลอด สีนวล
ผลเป็นฝัก สีน้ำตาลดำ ผิวย่นขรุขระ ขอบมักเป็นคลื่น
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ฝัก - มีสารออกฤทธิ์กลุ่มซาโปนินสูงถึง 20.8% ได้แก่ acacinins A, B, C, D และ E ซึ่งถ้าตีกับน้ำ จะเกิดฟองที่คงทนมาก ใช้สระผมแก้รังแค ต้มน้ำอาบหลังคลอด หรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ฝักกินเป็นยาขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว


 

8. สะเดาบ้าน
Neem Tree

Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton
MELIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 4-10 เมตร ทุกส่วนมีรสขม ยอดอ่อนที่แตกใหม่ มีสีน้ำตาลแดง เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่อง
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ฐานใบไม่เท่ากัน
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ขณะกำลังแตกใบ่ออน กลีบดอกสีขาว
ผล เป็นผลสด รูปรี มี 1 เมล็ด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ก้านใบและราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด
เปลือกต้น - แก้ท้องเสีย
เมล็ดและใบ - มีสาร azadirachtin ซึ่งใช้เป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช โดยใช้สะเดาบ้าน ใบตะไคร้หอมและเหง้าข่าแก่ ชนิดละ 2 กก. บดละเอียด หมักค้างคืนกับน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นในอัตราส่วนน้ำยา 300-500 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ


 

9. แสลงใจ
Nux-vomica Tree, Snake Wood

Strychnos nux-vomica Linn.
STRYCHNACEAE
ชื่ออื่น กระจี้ กะกลิ้ง ตูมกาแดง แสลงทม แสลงเบื่อ แสลงเบือ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 30 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 5 - 8 ซม. ยาว 7 - 12 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน
ผลเป็นผลสด รูปกลม เมล็ดกลมแบนคล้ายกระดุม สีเขียวแกมเทา มีขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่มปกคลุม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - เมล็ดแก่แห้ง เรียกว่า โกฐกะกลิ้ง ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ขับน้ำย่อย พบว่ามีแอลคาลอยด์ strychnine และ brucine ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีความเป็นพิษสูง หากได้รับเกินขนาดจะเป็นอันตราย อาการพิษคือ กล้ามเนื้อกระตุกและชัก อาจถึงตาย ปัจจุบันไม่ค่อยใช้เป็นยา และกำหนดขนาดไว้ให้กินได้ ไม่เกินครั้งละ 60 มก. แต่ใช้เป็นยาเบื่อหนูและสุนัข


 

10. หอมแดง
Eleutherine americana Merr.
IRIDACEAE
ชื่ออื่น ว่านไก่แดง ว่านเข้า ว่านหมาก ว่านเพลาะ ว่านหอมแดง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินคล้ายหัวหอม รูปรียาว ใบเกร็ดที่หุ้มหัวใต้ดิน สีม่วงแแดง
ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ รูปดาบ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 20-40 ซม. เส้นใบขนาน จีบตามยาวคล้ายพัด
ดอกช่อ แทงจากลำต้นใต้ดิน กลีบดอกสีขาว
ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
หัวใต้ดินสด - ใช้ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอม ตำหยาบ ๆ ห่อผ้าสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม