1. กระแจะ
Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson
(Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.)
RUTACEAE
ชื่ออื่น ขะแจะ ตุมตัง พญายา

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่สลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 2-7 ซม. ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
แก่น - ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง)
ลำต้น - ใช้ต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น แก้อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน
เปลือกต้น - แก้ไข้ บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่นแจ่มใส


 

2. ชองระอา
Barleriaiupulina Lindl.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น เสลดพังพอน เสลดพังพอนตัวผู้

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร มีหนามแหลมยาวข้อละ 2 คู่ กิ่งก้านสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกยาวหรือ รูปขอบขนาน กว้าง 1.8-2.5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ผิวใบเรียบมัน สีเขียวเข้ม เส้นกลางใบสีแดง ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 8 ซม. ใบประดับค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ กลีบดอกสีเหลืองส้ม โคนเชื่อมติดเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมีกลีบขนาดใหญ่ 4 กลีบ กลีบล่างเล็กกว่า มี 1 กลีบ ผล เป็นฝัก รูปไข่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ตำละเอียดผสมเหล้า พอกหรือทา ถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยและเริม
ราก - ใช้ฝนกับเหล้าทาถอนพิษตะขาบ


 

3. นมสวรรค์
Clerodendrum paniculatum Linn.
VERBENACEAE
ชื่ออื่น ฉัตรฟ้า สาวสวรรค์ พวงพีเหลือง หังลิง พนมสวรรค์

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 7-38 ซม. ยาว 4-40 ซม. ขอบใบหยักเว้า ลึก 3-7 แฉก ดอกช่อขนาดใหญ่ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูประฆังสีส้มแดง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว สีส้มแดง ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม สีน้ำเงินแกมเขียวหรือดำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ดอก - แก้พิษสัตว์กัดต่อย และพิษที่เกิดจากการติดเชื้อ แก้ตกเลือด
ราก - ขับลม แก้วัณโรค แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการไข้ที่ถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
ต้น - แก้อักเสบเนื่องจากตะขาบ และแมลงป่องต่อย แก้พิษฝีผักบัว


 

4. บัวบก
Asiatic Pennywort, Tiger Herbal
Centella asiatica (Linn.) Urban
APIACEAE
ชื่ออื่น ผักแว่น ผักหนอก

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะ แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อ ชูขึ้น 3-5 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไต เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทและเกิดแผลเป็นชนิดนูน (keloid) น้อยลง สารที่ออกฤทธิ์คือ กรด madecassic, กรด asiatic และ asiaticoside ซึ่งช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ มีรายงานการค้นพบฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของโรคกลาก ปัจจุบัน มีการพัฒนายาเตรียมชนิดครีม ให้ทารักษาแผลอักเสบจากการผ่าตัด น้ำต้มใบสดดื่มลดไข้ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย


 

5. ประยงค์
Aglaia odorata Lour.
MELIACEAE
ชื่ออื่น ขะยง ขะยม พะยงค์ ยม หอมไกล

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูงประมาณ 3 เมตร มีใบดก ปลายยอดอ่อน หุ้มด้วยใบเกล็ดสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย 5 ใบ รูปไข่กลับ กว้าง 1-2 ซม. ยาว 2-4 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ลักษณะเป็นช่อโปร่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กประมาณ 2 มม. กลิ่นหอม กลีบดอกสีเหลือง ผลสด มี 1-2 เมล็ด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก ใช้กินถอนพิษเบื่อเมา เป็นยาทำให้อาเจียน


 

6. ผักชีล้อม
Oenanthe stolonifera Wall.
APIACEAE
ชื่ออื่น ผักอันอ้อ

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 60 ซม. ชอบขึ้นในน้ำและที่ชื้นแฉะ ลำต้นกลวง อวบน้ำ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปหอก กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีขาว ก้านดอกย่อยยาวเท่ากัน ผลแห้ง แตกได้ รูปไข่กลับ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ทั้งต้น - ใช้แก้โรคน้ำเหลืองเสีย เป็นส่วนผสมในตำรับยาอาบ-อบสมุนไพร เพื่อรักษาเหน็บชา ขับเหงื่อ


 

7. ผักบุ้งทะเล
Goat's Foot Creeper
Ipomoea pes-caprae (Linn.) R. Br.
CONVOLVULACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก เลื้อยตามผิวดิน มักพบในพื้นที่ใกล้ทะเล ทั้งต้นมียาวขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 7-11 ซม. ยาว 5-8 ซม. ค่อนข้างหนา โคนใบรูปหัวใจ ปลายเว้าลึก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ มี 4-6 ดอก กลีบดอกสีม่วงชมพู โคนติดกัน ปลายบานออกคล้ายปากแตร ผลแห้ง แตกได้ รูปกลมหรือรูปไข่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้แก้พิษแมงกะพรุน นำใบสด 10-15 ใบ ตำละเอียด คั้นเอาน้ำ ทาแผลบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน หรือตำกับเหล้าใช้พอกก็ได้ พบว่ามีสาร damascenone ที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ ต้านพิษแมงกะพรุนได้


 

8. พญาปล้องทอง
Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด พญาปล้องคำ พญาปล้องดำ พญายอ เสลดพังพอน เสลดพังพอนตัวเมีย

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง 1-3 ซม. ยาว 4-12 ซม. สีเขียวเข้ม ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงส้ม โคนกลีบสีเขียวติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ไม่ค่อยออกดอก ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แมลงกัดต่อย ผื่นคัน โดยนำใบสด 5-10 ใบ ตำหรือขยี้ทา ใช้ทารักษาอาการอักเสบจากเริมในปาก โดยใช้ใบสด 1 กก. ปั่นละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70% 1 ลิตร หมัก 7 วัน แล้วกรอง ระเหยบนเครื่องอังไอน้ำ ให้ปริมาตรลดลงครึ่งหนึ่ง เติมกลีเซอรินเท่าตัว


 

9. รางจืด
Thunbergia laurifolia Linn.
THUNBERGIACEAE
ชื่ออื่น กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว คาย รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง ย่ำแย้ แอดแอ

รูปลักษณะ
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-14 ซม. ขอบใบเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้คั้นน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาการแพ้อาหาร เป็นต้น การทดลองเพื่อใช้แก้พิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลงโพลิดอลในสัตว์ ได้ผลดีพอควร สรุปได้ว่าอาจใช้น้ำคั้นใบสดให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลง ดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกัน ก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง


 

10. ลิ้นงูเห่า
Clinacanthus siamensis Berm.
ACANTHACEAE

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1.5-4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงส้ม โคนกลีบสีเขียว ติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ตำหรือขยี้ ทาหรือพอก แก้พิษร้อนอักเสบ ปวดฝี
ราก - ตำพอกแก้พิษตะขาบและแมงป่อง


 

11. ลิ้นมังกร
Sauropus changiana S.Y.Hu.
EUPHORBIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 40 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับแกมขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 10-16 ซม. แผ่นใบมีลายสีขาว ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกตามโคนต้น ดอกย่อยแยกเพศ สีแดงเลือดนก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้ตำหรือขยี้ทาหรือพอก แก้พิษร้อนอักเสบ


 

12. ว่านมหากาฬ
Gynura pseudochina DC. var. hispida Thv.
ASTERACEAE
ชื่ออื่น ดาวเรือง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ เลื้อยทอดยาวไปตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ปลายยอดมีขนนุ่มสั้นปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ เวียนรอบต้น รูปใบหอกกลับ กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 6-30 ซม. ขอบใบหยักห่าง ๆ หลังใบสีม่วงเข้ม มีขนเส้นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีเหลืองทอง ผลแห้ง ไม่แตก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
รากและใบสด ใช้ตำ พอกแก้ปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษปวดแสบ ปวดร้อน ใช้ใบสดทดลองกับผู้ป่วยโรคเริมและงูสวัด สรุปว่า สารสกัดจากใบทำให้อัตราการกลับมาเป็นใหญ่ของโรคลดลง


 

13. ว่านหางจระเข้
Aloe
Aloe vera Linn. var chinensis (Haw.) Berg
ALOACEAE
ชื่ออื่น ว่านไฟไหม้ หางตะเข้

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.5-1 เมตร ข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว เรียงรอบต้น กว้าง 5-12 ซม. ยาว 0.3-0.8 เมตร อวบน้ำมาก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม ภายในมีวุ้นใส ใต้ผิวสีเขียวมีน้ำยางสีเหลือง ใบอ่อนมีประสีขาว ดอกช่อ ออกจากกลางต้น ดอกย่อย เป็นหลอดห้อยลง สีส้ม บานจากล่างขึ้นบน ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
วุ้นสด - ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง วิธีใช้ให้เลือกใช้ใบล่างสุดของต้นก่อน ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออกด้วยมีดสะอาด ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจระคายเคืองผิวหนัง และทำให้มีอาการแพ้ได้ ฝานเป็นแผ่นบางปิดแผล หรือขูดเอาวุ้นใสปิดพอกรักษาแผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลไหม้เกรียมจากแสงแดด และการฉายรังสี อาจใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดพันทับ เปลี่ยนวุ้นใหม่วันละครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย ใช้วุ้นสดกินรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ดี และใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท เช่น แชมพูสระผม สบู่ ครีมกันแดด เป็นต้น สารที่ออกฤทธิ์เป็นกลัยโคโปรตีน ชื่อ aloctin A ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และเพิ่มการเจริญทดแทนของเนื้อเยื่อ บริเวณที่เป็นแผล แต่มีข้อเสีย คือ สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ไม่ควรทิ้งวุ้นสดไว้เกิน 24 ชั่วโมง
น้ำยางสีเหลืองจากใบ - เคี่ยวให้แห้ง เรียกว่า "ยาดำ" เป็นยาระบายชนิดเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่