1. กระแจะ
Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson
(Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.)
RUTACEAE
ชื่ออื่น ขะแจะ ตุมตัง พญายา

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่สลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 2-7 ซม. ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
แก่น - ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง)
ลำต้น - ใช้ต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น แก้อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน
เปลือกต้น - แก้ไข้ บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่นแจ่มใส


 

2. กระทงลาย
Celastrus paniculatus Willd.
CELASTRACEAE
ชื่ออื่น กระทุงลาย โชด นางแตก มะแตก มะแตกเครือ มักแตก

รูปลักษณะ
ไม้เถารอเลื้อย เนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีเขียว ผลแห้ง แตกได้ รูปทรงกลมหรือรูปไข่ เมล็ดมีเยื่อสีน้ำตาลแดง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
ใบ - รักษาโรคบิด
แก่น - รักษาวัณโรค
ผล - แก้ลมจุกเสียด บำรุงโลหิต
เมล็ด - พอกหรือรับประทานรักษาโรคปวดตามข้อ กล้ามเนื้อและอัมพาต
น้ำมันในเมล็ด - รักษาโรคเหน็บชา และเป็นยาขับเหงื่อ


 

3. โกฏจุฬาลำพา
Artemisia vulgaris Linn.
ASTERACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1.5 เมตร รากมีกลิ่นหอม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปใบหอก ขอบหยักเว้า ลึกเป็นพู ดอกช่อ แยกแขนง ประกอบด้วยช่อย่อยเป็นกระจุกกลม ขนาดเล็กออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง มีชั้นใบประดับ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลแห้ง ไม่แตกเมล็ด รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ผิวเกลี้ยง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบและช่อดอกแห้ง - ใช้แก้ไข้ที่มีผื่น เช่น หัด สุกใส แก้ไอ


 

4. คนทา
Harrisonia perforata (Blanco) Merr.
SIMAROUBACEAE
ชื่ออื่น กะลันทา สีฟ้น สีฟันคนตาย สีฟันคนทา จี้ จี้หนาม สีเตาะ หนามจี้

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มแกมเถา กิ่งก้านมีหนาม ยอดอ่อนมีสีแดง ใบประกอบ แบบขนนกเรียงสลับ มีครีบที่ก้านและแกนใบ ใบย่อยรูปวงรีหรือรูปไข่ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. ขอบใบหยัก ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกด้านนอกสีแดงแกมม่วง ด้านในสีนวล ผล เป็นผลสด ค่อนข้างกลม ใบ ผล และราก มีรสขม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด


 

5. จันทน์ชะมด
Aglaia pyramidata Hance
MELIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 7-10 ซม. ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลเป็นผลสด รูปไข่หรือทรงกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
แก่น - แก่นจันทน์ชะมดมีรสขม หอม ใช้เป็นยาแก้ไอ กระหายน้ำ อ่อนระโหย


 

6. เท้ายายม่อม
Clerodendrum petasites S. Moore
VERBENACEAE
ชื่ออื่น กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน ปิ้งขม ปิ้งหลวง พญารากเดียว พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ พมพี พินพี่ ไม้เท้าฤาษี หญ้าลิ้นจ้อน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2.5 เมตร ลำต้นตรง บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือรอบข้อ ๆ ละ 3-5 ใบ รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 12-18 ซม. ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาขับเสมหะลงเบื้องต่ำ ขับพิษไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาเจียน หืดไอ และตำพอกแก้พิษฝี


 

7. บอระเพ็ด
Tinospora crispa (Linn.)
Miers ex Hook. f. et Thoms.
MENISPERMACEAE
ชื่ออื่น เครือเขาฮอ จุ่งจิง เจตมูลหนาม ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน หางหนู

รูปลักษณะ
ไม้เถาเลื้อยพัน เถามีขนาดใหญ่ มีปุ่มปมมาก ทุกส่วนมีรสขมมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้างและยาว 6-10 ซม. ดอกช่อ ออกตามเถา และที่ซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก ไม่มีกลีบดอก ผล เป็นผลสด ค่อนข้างกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เถา - ใช้เป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน โดยนำเถาสดขนาดยาว 2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม) ต้มคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนจนเหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเมื่อมีไข้ นอกจากนี้ใช้เป็นยาขมเจริญอาหารด้วย


 

8. บัวบก
Asiatic Pennywort, Tiger Herbal
Centella asiatica (Linn.) Urban
APIACEAE
ชื่ออื่น ผักแว่น ผักหนอก

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะ แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อ ชูขึ้น 3-5 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไต เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทและเกิดแผลเป็นชนิดนูน (keloid) น้อยลง สารที่ออกฤทธิ์คือ กรด madecassic, กรด asiatic และ asiaticoside ซึ่งช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ มีรายงานการค้นพบฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของโรคกลาก ปัจจุบัน มีการพัฒนายาเตรียมชนิดครีม ให้ทารักษาแผลอักเสบจากการผ่าตัด น้ำต้มใบสดดื่มลดไข้ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย


 

9. ประทัดใหญ่
Quassia
Quassia amara Linn.
SIMAROUBACEAE
ชื่ออื่น ประทัด ประทัดจีน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 1.5-3 ซม. ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปวงรี กว้าง 2-3 ซม. ยาว 3-5 ซม. เส้นใบสีแดง ก้านและแกนใบรวมแผ่ออกเป็นครีบ ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงสด ผลกลุ่ม ผลย่อยรูปไข่กลับ สีแดงคล้ำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ ยาขมเจริญอาหารและช่วยย่อยอาหาร


 

10. ปลาไหลเผือก
Eurycoma lingifolia Jack.
SIMAROUBACEAE
ชื่ออื่น กรุงบาดาล คะนาง ชะนาง ตรึงบาดาล แฮพันชั้น เพียก หยิกบ่อถอง หยิกไม่ถึง เอียนด่อน ไหลเผือก ตุงสอ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 4-6 เมตร ลำต้นตรง ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่แกมวงรี กว้าง 2-3 ซม. ยาว 5-7 ซม. สีเขียวเข้ม ยอดและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีม่วงแดง ผลเป็นผลสด รูปยาวรี
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด รวมทั้งไข้จับสั่น พบว่าสารที่ออกฤทธิ์เป็นสารที่มีรสขม ได้แก่ eurycomalactone, eurycomanol และ eurycomanone สารทั้งสามชนิดนี้ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย ชนิดฟัลซิพารัมในหลอดทดลองได้ จัดเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพ ควรศึกษาวิจัยต่อไป


 

11. พญาสัตบรรณ
Blackboard Tree, Devil Tree
Alstonia scholaris (Linn.) R. Br.
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น สัตบรรณ ตีนเป็ด ตีนเป็ดขาว ชบา ยางขาว หัสบรรณ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูงถึง 30 เมตร เปลือกต้นสีเทา มียางขาวมาก กิ่งแตกออกรอบข้อ ใบเดี่ยว เรียงรอบข้อ ๆ ละ 6-9 ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 5-18 ซม. ปลายทู่กลม หรือเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว แกมเหลือง ผลเป็นฝักออกเป็นคู่ รูปกลมยาว
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - ใช้แก้ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้บิด สมานลำไส้ การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด รักษาแผลเรื้อรัง และต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด


 

12. พะยอม
Shorea roxburghii G. Don
DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น กะยอม ขะยอมดง แคน พะยอมดง พะยอมทอง ยางหยวก

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 15-30 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 4-6 ซม. ยาว 8-12 ซม. ขอบใบเป็นคลื่น ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแห้ง รูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - ต้นน้ำดื่มเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดินและสำไส้อักเสบ สารที่ออกฤทธิ์คือ แทนนิน นอกจากนี้ยังใช้เปลือกต้นเป็นยากันบูดด้วย
ดอก - ใช้เป็นยาลดไข้ เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ


 

13. ฟ้าทะลาย
Andrographis paniculata (Burm. f.) Nees.
ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ฟ้าทะลายโจร หญ้ากับงู น้ำลายพังพอน

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 30-60 ซม. ทั้งต้นมีรสขม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งออกเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-8 ซม. สีเขียวเข้ม เป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีแดงเข้มพาดตามยาว ปากล่างมี 2 กลีบ ผลเป็นฝัก สีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นสองซีก ดีดเมล็ดออกมา
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบและทั้งต้น - ใช้เฉพาะส่วนที่อยู่บนดิน ซึ่งเก็บก่อนที่ดอกจะบาน เป็นยาแก้ไข้ แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย เป็นยาขมเจริญอาหาร ขนาดที่ใช้คือ พืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง หรือใช้พืชแห้งบดเป็นผงละเอียด ปั้นเป็นยาลูกกลอน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. กินครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน สำหรับผงฟ้าทะลายที่บรรจุแคปซูล ๆ ละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น อาการข้างเคียงที่อาจพบคือ คลื่นไส้


 

14. มะปราง
Plum Mango
Bouca macrophylla Griff.
ANACARDIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร กิ่งก้านห้อยลง เป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3-7 ซม. ยาว 12-20 ซม. เนื้อใบเหนียวเป็นมัน ดอกช่อ แยกแขนงออกที่ซอกใบ ดอกย่อยสีเหลืองขนาดเล็ก ผล เป็นผลสด รูปวงรี สีเหลืองหรือส้ม ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยว ใบเลี้ยงสีม่วง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - มีรสเย็น ใช้ถอนพิษไข้ พิษสำแดง แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ ไข้มีพิษร้อน


 

15. มะฮอกกานี ใบใหญ่
Broad Leaf Mahogany,
False Mahogany,
Honduras Mahogany
Swietenia macrophylla King
MELIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย รูปวงรีเบี้ยว โค้งเล็กน้อย กว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 6-15 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองแกมเขียว ผลแห้ง แตกได้ รูปไข่ เปลือกหนาแข็ง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกต้น - ใช้เป็นยาแก้ไข้ เจริญอาหาร


 

16. โมกหลวง
Kurchi
Holarrhena pubescens (Buch.-Ham.) Wall.
ex G. Don (H. antidysenterica Wall.)
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น พุด พุทธรักษา มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง โมกใหญ่ ยางพุด

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 8-15 เมตร ทุกส่วนมียางขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปวงรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 10-12 ซม. ผิวใบสีเขียวแกมเหลือง ท้องใบมีขนนุ่ม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว บริเวณกลางดอกสีเหลือง ผลเป็นฝักคู่
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือก -ใช้แก้บิด เจริญอาหาร พบว่ามีแอลคาลอยด์ conessine ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด และเคยใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีการใช้น้อย เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท


 

17. ระย่อมน้อย
Rauwolfia
Rauvalfia serpentina (Linn.) Benth. ex Kurz.
APOCYNACEAE
ชื่ออื่น กะย่อม เข็มแดง

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 30-70 ซม. มียางขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือรอบข้อ ๆ ละ 3 ใบ รูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-20 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีขาวแกมเขียว เมื่อกลีบดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเป็นหลอดสีแดง ผลเป็นผลสด รูปวงรี
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - ตำรายาไทยใช้แก้ไข้ เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต แก้บ้าคลั่ง ทำให้นอนหลับ ขับพยาธิ พบว่ารากมีแอลคาลอยด์ reserpine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และกล่อมประสาท อาการข้างเคียงของการใช้ยานี้คือ ทำให้ฝันร้าย ซึมเศร้า คัดจมูก


 

18. รางจืด
Thunbergia laurifolia Linn.
THUNBERGIACEAE
ชื่ออื่น กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว คาย รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง ย่ำแย้ แอดแอ

รูปลักษณะ
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-14 ซม. ขอบใบเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้คั้นน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาการแพ้อาหาร เป็นต้น การทดลองเพื่อใช้แก้พิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลงโพลิดอลในสัตว์ ได้ผลดีพอควร สรุปได้ว่าอาจใช้น้ำคั้นใบสดให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลง ดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกัน ก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง


 

19. ลักกะจั่น
Dracaena loureiri Gagnep.
DRACAENACEAE
ชื่ออื่น จันทน์แดง จันทน์ผา ลักกะจันทน์

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 เมตร ตรงปลายมีข้อถี่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปดาบ กว้าง 5-7 ซม. ยาว 50-70 ซม. ออกรวมเป็นกลุ่มที่ยอด เนื้อใบกรอบแข็ง ดอกช่อขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด โค้งห้อยลง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีนวล ผลสด รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
แก่นที่ราลง - มีสีแดง ใช้เป็นยาเย็น แก้ไข้ทุกชนิด การทดลองในสัตว์ พบว่า สารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ลดไข้ แต่ต้องใช้ปริมาณมากกว่าแอสไพริน 10 เท่า และออกฤทธิ์ช้ากว่าแอสไพริน 3 เท่า


 

20. ว่านธรณีสาร
Phyllanthus pulcher Wall. ex Muell. Arg.
EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น กระทืบยอบ ก้างปลา ก้างปลาดิน ดอกใต้ใบ ก้างปลาแดง ครีบยอด คอทราย ตรึงบาดาล

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูงไม่เกิน 1.5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมวงรี กว้าง 0.8-1.3 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกใกล้โคนกิ่ง ดอกตัวเมียมักออกตอนปลายกิ่ง สีเขียวอ่อน โคนกลีบสีแดงเข้ม ก้านดอกยาว ผลแห้ง แตกได้ ค่อนข้างกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบแห้ง - ใช้บดเป็นผงแทรกพิมเสน กวาดคอเด็กเพื่อลดไข้ และรักษาแผลในปาก ภายนอกใช้พอกฝี บรรเทาอาการบวมและคัน


 

21. สะเดาบ้าน
Neem Tree
Azadirachta indica A.Juss.
var.
siamensis Valeton
MELIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 4-10 เมตร ทุกส่วนมีรสขม ยอดอ่อนที่แตกใหม่ มีสีน้ำตาลแดง เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่อง ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ฐานใบไม่เท่ากัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ขณะกำลังแตกใบ่ออน กลีบดอกสีขาว ผล เป็นผลสด รูปรี มี 1 เมล็ด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ก้านใบและราก - ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด
เปลือกต้น - แก้ท้องเสีย
เมล็ดและใบ - มีสาร azadirachtin ซึ่งใช้เป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช โดยใช้สะเดาบ้าน ใบตะไคร้หอมและเหง้าข่าแก่ ชนิดละ 2 กก. บดละเอียด หมักค้างคืนกับน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นในอัตราส่วนน้ำยา 300-500 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ


 

22. หอมแดง
Eleutherine americana Merr.
IRIDACEAE
ชื่ออื่น ว่านไก่แดง ว่านเข้า ว่านหมาก ว่านเพลาะ ว่านหอมแดง

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินคล้ายหัวหอม รูปรียาว ใบเกร็ดที่หุ้มหัวใต้ดิน สีม่วงแแดง ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ รูปดาบ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 20-40 ซม. เส้นใบขนาน จีบตามยาวคล้ายพัด ดอกช่อ แทงจากลำต้นใต้ดิน กลีบดอกสีขาว ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
หัวใต้ดินสด - ใช้ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอม ตำหยาบ ๆ ห่อผ้าสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม